Pages

วันอังคาร, พฤษภาคม 20

เพราะโลกมันแบน ตอนที่ 2

ต่อจากตอนที่แล้ว
4. Triple Convergence
"ผู้เขียนกล่าวถึงการประสานกัน 3 ประการ (Triple Convergence) ที่เอื้อความสามารถในการแข่งขันให้ปัจเจกบุคคล

Convergence I หมายถึง การผสานรวมกันของ เทคโนโลยี workflow software และ hardware ดังตัวอย่างเช่น การที่บริษัทโคนิก้ามินอลต้า (Konica Minolta) สามารถผลิตเครื่องมือที่สามารถสแกนภาพ ส่งอีเมล์ พิมพ์งาน ส่งแฟกซ์ และถ่ายเอกสารได้ในเครื่องเดียวกัน (เครื่องนี้มีชื่อว่า Bizhub)
ผล กระทบสำคัญของ Convergence I นี้คือการเกิดขึ้นของสังคมเศรษฐกิจของโลกไร้พรมแดน ที่มีระบบอินเตอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดการร่วมมือกัน (ทั้งการแบ่งปันความรู้ และการทำงาน) ของปัจเจกบุคคลหลากหลายรูปแบบ ได้ในเวลาเดียวกัน (real time) โดยปราศจากอุปสรรคทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ระยะทาง หรือกระทั่ง (ในอนาคตอันใกล้นี้) ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่า นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจน ประการหนึ่งที่ว่าโลกกำลังแบนลง

Convergence II หมายถึง การนำการผสานของเทคโนโลยี (convergence I) มาประยุกต์เข้ากับวิธีการทำงาน ทำให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่เพิ่มผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้น ซึ่งทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี และวิธีการทำงานต่างก็มีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน นั่นคือ วิธีการทำงานใหม่ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการเทคโนโลยีได้มากขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆได้หลากหลายขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าสายการบังคับบัญชา (chain of command) สำหรับการปฏิบัติงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้เปลี่ยนแปลงจากแนวตั้ง ที่เน้นการสั่งการและการควบคุม (command and control) ไปเป็นแนวนอนที่เน้นการร่วมมือกัน (connect and collaborate) มากขึ้น

Convergence III หมายถึง คือการที่ประชากรในประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา และเอเชียกลาง รวม 3 พันล้านคน มีโอกาสร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้ง 3 ประสาน (triple convergence) ร่วมกันแล้วจะพบว่า โลกปัจจุบันมีสิ่งกีดขวาง ในการดำเนินกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมน้อยลง ทำให้ประชากรจากส่วนต่างๆของโลกที่แต่เดิมมีโอกาสน้อยกว่าประชากรของประเทศ อุตสาหกรรมดั้งเดิม มีโอกาสแข่งขันในเวทีโลกมากขึ้น โดยอาศัยกระบวนการ การร่วมมือกันและเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นแรงสำคัญที่มีส่วนกำหนดลักษณะของสังคมเศรษฐกิจของโลก ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับโลกที่เล็กลงและไร้พรมแดนนี้ ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตว่า มีมานานแล้ว คือ อย่างน้อยตั้งแต่ผลงานของ Karl Marx and Friederich Engels ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Communist Manifesto ในปี 1848 ผลงานดังกล่าว แม้จะมีความแตกต่างจากความเห็นของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อยู่บ้าง แต่ก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกล่าวถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีและเงินทุน ที่สามารถทำลาย สิ่งกีดขวาง พรมแดน ความขัดข้องต่างๆ ของระบบการค้าในระดับโลกโดยรวม

The image “http://www.loosetooth.com/Viscom/gf/world_is_flat.gif” cannot be displayed, because it contains errors.

ข้อสังเกต ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของ Friedman ก็คือเรื่อง multiple identity disorder หรือปัญหา ที่คนหรือองค์กรเกิดความรู้สึกสับสนขัดแย้งเกี่ยวกับเอกลักษณ์ (identity) ของตน อันเป็นผลมาจากความ ไม่ชัดเจนว่าตนมีบทบาทหลัก สังกัดอยู่ในกลุ่มไหน เช่น เป็นการยากที่จะระบุว่า บริษัท ฎ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทของประเทศอะไรถ้าหาก บริษัท ฎ มีคนจีนเป็น Chairman มีคนอเมริกันเป็นประธานพนักงานบริหาร (Chief Executive Officer—CEO) มีคนอินเดียเป็นประธานพนักงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer—COO) และ มีคนญี่ปุ่นเป็นประธานพนักงานการเงิน (Chief Financial Officer—CFO) ในขณะที่บริษัท A เป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง คำถามก็คือ งั้นบริษัท A จะรู้สึกว่ามีความผูกพันกับประเทศไหนมากที่สุดล่ะ??? "


5. อาชีพใหม่ๆ....บนโลกแบนๆ
"มี อาชีพใหม่เกิดขึ้นอาชีพหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการที่โลกแบน นั่นคือ Search Engine Optimisers (SEO) ที่มีหน้าที่ดูแลทีให้การค้นคำ keyword ด้วย search engines ต่างๆ แสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลบริษัทของตนให้มากที่สุด และอยู่ในลำดับแรกๆของผลการค้นการค้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสธุรกิจได้อย่างมหาศาล โดยใช้ต้นทุนไม่มาก ลองคิดดูว่าถ้าคุณมีบริษัทขายกล้องดิจิตอลบนอินเตอร์เน็ต แล้วมีคนที่อยากซื้อกล้องดิจิตอล สักตัวมาหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ใน Google โดยใส่ keyword ว่า “กล้องดิจิตอล” แล้วผลการ search มีข้อมูลสินค้าของบริษัทคุณโผล่ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ก็น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของคุณ และอาจกลายมาเป็นลูกค้าของคุณในที่สุด"


6. The Untouchable
"คำ ว่า the untouchable ที่ผูเขียนพยายามบอกคือการที่ไม่มีใครกล้ามาแตะต้อง หากคนต้องการสร้างความมั่นคงและความมีคุณค่า ก็ต้องทำตัวให้เป็น the untouchable ซึ่งหมายถึง มีความสามารถทักษะการปฏิบัติงาน ที่จะไม่ถูก outsourced ซึ่งผู้เขียนได้จำแนกประเภทของ the untouchables นี้ไว้ 4 ประเภท คือ

(1) Special เช่น พวก Michael Jordan, Bill Gates, Barbra Streisand ที่งานไม่มีทางถูก outsourced ได้ แต่ถ้าเราไม่ได้มีความสามารถพิเศษอย่างคนเหล่านี้ เราก็ยังมีทางเลือกอื่นอีก 3 ทาง
(2) Specialised พวกนี้รวมถึง knowledge workers ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทนายความ นักบัญชี ศัลยแพทย์สมอง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ ตำแหน่งงานเหล่านี้มักมีคนต้องการมาก แต่ก็มีลักษณะพิเศษที่ผู้เขียนใช้คำว่าไม่ fungible (note: คำว่า fungible นี้สำคัญ ในยุคโลกแบน ซึ่งงานที่มีลักษณะ fungible จะเป็นงานที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำแทนได้ แล้วก็สามารถว่าจ้างพนักงานในสถานที่ที่มีค่าแรงถูก [ที่ไหนก็ได้บนโลกนี้] ทำแทนได้) ดังนั้นงานที่ไม่ fungible จึงมีความมั่นคงสูง)
(3) Anchored คืองานที่ติดอยู่กับสถานที่ที่ทำ มีการติดต่อตัวต่อตัวกับลูกค้า ผู้รับบริการ (ส่วนมากเป็นงานบริการ ทำให้ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำได้ทั้งหมด) อย่างไรก็ดี บางส่วนของงานที่ anchored นี้ ก็อาจเป็น fungible ได้ เช่น หมอในญี่ปุ่นอาจจ้างให้นักรังสีวิทยาที่อยู่ในอินเดีย (ที่เก่ง แต่มีค่าจ้างถูก) อ่านผล CAT scan ของคนไข้ให้
(4) Really adaptable ทางเลือกสุดท้ายที่คุณจะทำได้หากต้องการมีความมั่นคงในการงาน นั่นคือคุณต้องเพิ่มเติมทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ใส่ตัวอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้คุณสามารถสร้างคุณค่าให้กับงานเพิ่มขึ้น โดยผู้เขียนเปรียบเทียบกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไอติมวนิลาพื้นๆ โดยการใส่ ช็อกโกแลตชิปลงไป แปะหน้าด้วยวิปครีม และเชอร์รี่ แล้วก็ขายได้แพงกว่าไอติมวนิลาธรรมดา เป็นต้น"

7. ช่อง โหว่ที่ก่อให้เกิดวิกฤต
"ผู้ เขียนกล่าวถึงวิกฤตการณ์ของอเมริกา ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จากการถดถอยลงของความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเคยถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน อเมริกันมาเป็นเวลาช้านาน ผู้เขียนคาดว่าผลของวิกฤตการณ์นี้อาจเผยตัวออกมาอย่างช้าๆในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า โดยเขาได้กล่าวถึงช่องโหว่ (gaps) 3 ประการ ที่สหรัฐกำลังเผชิญ

1.) The number gap (ช่องโหว่ทางตัวเลข) มีการกล่าวถึงสถิติตัวเลขที่สำคัญๆต่างๆ เช่น ในปี 2004 ที่ NASA มีการตระหนักถึงปัญหาเรื่อง aging workforce มีการกล่าวถึงสถิติว่า พนักงานราว 40 เปอร์เซ็นต์มีอายุ 55 ปี หรือมากกว่า และมี เพียง 4 เปอร์เซ็นต์มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ในขณะที่ประเทศต่างๆมีสัดส่วนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์และ วิศวกรรมศาสตร์ (Science and Engineering—S&E) สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น 60 เปอร์เซ็นต์ในจีน 33 เปอร์เซ็นต์ในเกาหลีใต้ และ 41 เปอร์เซ็นต์ในไต้หวัน ส่วนของอเมริกาคงที่อยู่ที่ 31 แนวโน้มนี้มีความสำคัญเนื่องจากความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของอเมริกา มีการพึ่งพาการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเชื่อว่า แม้อเมริกาจะเริ่มลงมือแก้ไขปัญหาในวันนี้ แต่ทว่าผลจากการแก้ไขปัญหาในวันนี้จะต้องใช้เวลาถึง 10-20 ปี ข้างหน้ากว่าจะเห็นผล

2.) The ambition gap (ช่องโหว่ทางความมุ่งมั่น) มีการกล่าวถึง ผู้คนในบางประเทศ มีลักษณะ เอาจริงเอาจัง มีความทะเยอทะยาน เช่น คนจีน อินเดีย หรือโปแลนด์ โดยภาพรวมๆแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้แค่อยากทำงานกับบริษัทอเมริกัน หรืออยากเป็นชาวอเมริกันเท่านั้น แต่พวกเขาอยากจะเป็นเจ้านายคนอเมริกันเลยทีเดียว ในชนบทจีน คนเห็นบิลล์ เกตส์ เป็นซูเปอร์สตาร์........ ในขณะที่ในอเมริกา ซูเปอร์สตาร์คือ........... บริทนีย์ สเปียรส์ และนี่.................คือปัญหา ใช่มั๊ย??

3.) The education gap (ช่องโหว่ทางด้านการศึกษาและวิจัยสร้างความรู้) มีการอ้างสถิติว่า รัฐบาลกลางอเมริกา ได้ตัดเงินอุดหนุนการวิจัยลงร้อยละ 37 จากปี 1970-2004 ในประเทศจีน ถ้าคุณคิดว่าตัวเอง เจ๋งขนาดเป็น 1 ในล้านได้ ก็หมายความว่ายังมีคนอย่างคุณอยู่อีก 1,300 คน (เพราะจีนมีประชากรถึง 1,300 ล้านคน)”

8. ทำยังไงจึงจะอยู่รอดบน โลกแบนใบนี้

"ผู้เขียนเสนอข้อแนะนำ ในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไว้ 5 ประการ

8.1 LEADERSHIP ผู้นำการเมืองต้องตระหนักและทำให้ประชาชนเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ “เล่น” การเมืองอย่างเดียว

8.2 MUSCLE BUILDING ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแนวคิดจาก การจ้างงานตลอดชีวิต (lifetime employment) ไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพตลอดชีวิต (lifetime employability) นั่นคือ องค์กรควรที่จะสนับสนุนให้คนพัฒนาตนเองเพื่อการอยู่รอดในวิชาชีพ แทนที่จะส่งเสริมการจ้างงานตลอดชีวิต มิฉะนั้นคนจะไม่แข่งขัน ไม่กระตือรือร้น และอยู่ไม่ได้ในยุคที่โลกแบนแบบนี้ ผู้เขียนได้อุปมาดั่งการเปลี่ยนไขมันในตัวคนให้เป็นกล้ามเนื้อ

8.3 CUSHIONING ผู้เขียนเสนอให้มีการประกันค่าจ้าง (Wage insurance) ตามแนวความคิดของ Kletzer and Litan โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับการประกันค่าจ้าง จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ (1) ถูกเลิกจ้างเนื่องจากเหตุ offshoring, outsourcing, downsizing, หรือธุรกิจได้ปิดดำเนินการ (2) ต้องทำงานเดิมอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ปี (3) จะไม่ได้รับเงินชดเชยจนกว่าจะหางานใหม่ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนว่างงานรีบหางานใหม่ทำ

8.4 SOCIAL ACTIVISM มีการรวมตัวกันของบริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ มีการรวมตัวของ HP-Dell-IBM เมื่อตุลาคม 2004 มีการตกลงกันว่า ทั้ง 3 บริษัท และ suppliers ที่มีอยู่ทั่วโลกของทั้ง 3 บริษัท จะต้องดำเนินกิจการตามแนวทางข้อตกลงที่ร่วมกันกำหนดไว้ ที่เรียกว่า The Electronics Industry Code of Conduct อันครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น การต่อต้านการให้/รับสินบน การจ้างแรงงานเด็ก การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ระเบียบเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียและมลพิษอื่นๆ และการป้องกันและรายงานอุบัติภัยในที่ทำงาน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเสมือนการกระจาย Governance ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูงไปสู่ประเทศต่างๆทั่วโลกที่ suppliers ของตนตั้งอยู่

8.5 PARENTING พ่อแม่ของเด็กต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ลูกๆของตนกำลังจะเผชิญ และสอนวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นให้กับเด็กรุ่นต่อๆไป

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ